ความหมายของการจัดการความรู้

Information

นักวิชาการและบุคลากรด้านการจัดการความรู้หลายท่านและหลายสถาบันได้เห็นความสำคัญและทำการศึกษารูปแบบ แนวทางในการพัฒนาการจัดการความรู้  ไว้ดังนี้

Hedeo Yamazaki (อ้างถึงใน วรภัทร์ ภู่เจริญ, 2548) ได้แสดงปิรามิดของความรู้โดยเริ่มจากฐานล่าง คือ ข้อมูล ทำการสังเคราะห์จนได้สารสนเทศ แล้วคิดเปรียบเทียบเชื่อมโยงจนได้ความรู้ และนำไปใช้จนเก่งกลายเป็นปัญญา ซึ่งจะผ่าน 3 กระบวนการ คือ การแสวงหาความรู้ การตีความ ขยายความเข้าใจ การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้

วรภัทร์ ภู่เจริญ (2548) กล่าวถึงวงจรความรู้ว่ามีขั้นตอนของวงจร คือ

1) Identify ระบุค้นหากำหนดความรู้และแหล่งความรู้

2) Capture คือการเก็บสะสม รวบรวมความรู้ต่าง ๆ

3) Select ประเมินคุณค่าดูว่าขัดแย้งกันเองหรือไม่ จริงหรือเท็จ

4) Store จัดเก็บในฐานข้อมูลความรู้ขององค์กร

5) Apply นำไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหา วิจัย อบรม

6) Create สร้างความรู้ใหม่ๆ ทดลองวิจัย

7) Sell นำไปขาย สร้างสินค้าใหม่ บริการใหม่ ๆ

Laudon (2000) กล่าวถึง Knowledge Management ว่า การบริหารจัดการความรู้ในองค์กร           มีความสำคัญเป็นพิเศษในองค์การที่มีลักษณะการบริหารงานแบบแบนราบและแบบเครือข่าย ซึ่งในการจัดการในระดับต่างๆ จะมีการจัดการแยกแยะความจริงในส่วนที่จะสามารถนำมาช่วยสมาชิกในทีม ในการพัฒนางานในหน้าที่ รวมทั้งการแบ่งปันข้อมูล เพื่อพัฒนางานในส่วนงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันด้วย

Stair (2001) กล่าวว่า การบริหารการจัดการความรู้ เป็นกระบวนการรวบรวมจัดการความรู้ความชำนาญ ไม่ว่าความรู้นั้นจะอยู่ในคอมพิวเตอร์ ในกระดาษ หรือตัวบุคคล โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดการให้บุคลากรได้รับความรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากเดิม โดยให้เกิดประสบการณ์และความชำนาญเพิ่มขึ้น

Tiwana (2000) ให้ความหมายการบริหารจัดการความรู้ว่า หมายถึง การจัดการความรู้ในองค์กร สำหรับงานด้านธุรกิจ

วีรวุธ  มาฆะศิรานนท์ (2542) กล่าวถึง การบริหารจัดการความรู้ว่า การบริหารจัดการความรู้เป็นกระบวนการบริหารรูปแบบใหม่ ที่เน้นในด้านการพัฒนากระบวนงานควบคู่ไปกับการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ โดยทุกกระบวนงานจะต้องสัมพันธ์กับความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นผลมาจากการขยายวงและการประสานความรอบรู้ รวมถึงการฉลาดคิดไปตลอดทั่วทั้งองค์กรอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเท่ากับว่าองค์กรที่มีการบริหารจัดการความรู้นี้อย่างเป็นระบบ ก็จะเกิดเป็นโอกาสอันสำคัญต่อการพัฒนาให้เป็นองค์กรที่เปี่ยมไปด้วยการทำงานอย่างฉลาดคิดและสร้างสรรค์ในที่สุด ทำให้องค์กรนั้นสามารถเผชิญกับการแข่งขันและการเปลี่ยนในทุก ๆ รูปแบบ และสามารถฟันผ่าอุปสรรคทั้งมวลได้เป็นอย่างดี

ศรันย์ ชูเกียรติ (2541) กล่าวถึง การจัดองค์ความรู้ในองค์กร หมายถึง การจัดการและรักษาระดับในการจัดเก็บองค์ความรู้ในองค์กรให้เป็นระบบเป็นระเบียบ ตลอดจนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในทางปฏิบัติ

จากแนวคิดดังกล่าว สรุปได้ว่า การจัดความรู้ (Knowledge Management) หมายถึง กระบวนการความรู้ที่เน้นการแลกเปลี่ยนความรู้ของคนในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง โดยต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการปฏิสัมพันธ์ต่อกันของคนภายในองค์กรเดียวกัน เมื่อรวบรวมแล้วก็มีการนำความรู้ที่ได้มาสังเคราะห์ และการจำแนกหรือจัดระบบใหม่เพื่อสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่สามารถนำไปพัฒนาปรับปรุงองค์การ ในการบริหารจัดการและนำความรู้เผยแพร่ต่อสาธารณชนต่อไป

Control Plus Consulting Co., Ltd.
29 Soi Ekachai 69/2 Bang Bon District, Bangkok, Thailand 10150
Tel: +66-2899-5140 Fax: +66-2899-5140

Share This

Share This

Share this post with your friends!

ข้ามไปยังทูลบาร์